หากคุณเป็นคนที่อินในเรื่องของการเมือง ไม่ว่าจะฝั่งไหนก็ตาม คุณอาจจะเสี่ยงต่อภาวะอาการป่วยจากความเครียด ที่มีสามาเหตุมาจากการติดตามเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างเคร่งเครียดเกินไป
ซึ่งกลุ่มอาการเครียดจากปัญหาการเมือง (Political Stress Syndrome) นั้นเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของจิตใจต่อสิ่งเร้า (อาจยังไม่ใช่โรคทางจิตเวช) โดยมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือ เอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
มาดูกันว่าใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้?
- กลุ่มของผู้สนับสนุนความคิด
- กลุ่มของผู้สนใจข่าวสารการเมือง
- กลุ่มของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม และติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะของอาการเครียดที่เกิดจากการติดตามข่าวสารมีดังนี้
อาการทางกาย
- ปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อ, ตึงบริเวณขมับ,ต้นคอ หรือตามแขน ขา
- นอนไม่หลับ, หลับๆตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ
- หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง
- แน่นท้อง ปวดท้อง อึดอัดในช่องท้อง
- ชา ตามร่างกาย
อาการทางด้านจิตใจ
- สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป
- วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
- หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว
- เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก
ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น
- มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลาง ถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้
- มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ
- มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้
- มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อนจนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง
วิธีที่เราจะจัดการกับความเครียดจากปัญหาการเมืองคือ
- ให้หันเหหรือลดความสนใจเรื่องทางการเมืองบ้าง
- ลดการเสพข้อมูลรวมทั้งลดเวลาที่อยู่หน้าจอลง
- หาทางระบายออกโดยเลือกผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน
- ออกไปใช้ชีวิต และ ออกกำลังกาย
- ฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น ฝึกสติสมาธิ ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
ซึ่งอาการโดยทั่วไปจะสามารถทุเลาลงได้เอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หรือหากสามารถละความสนใจจากเรื่องการเมืองบ้าง แต่หากมีอาการทั้งหมดเกินกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบว่าอาการเริ่มรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งได้ลองจัดการกับความเครียดด้วยต้นเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรหาเวลามาพบและปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเริ่มต้นบำบัดรักษาทางด้านจิตใจต่อไป
ที่มา คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา | กรมสุขภาพจิต
ภาพประกอบ unsplash.com
เรียบเรียง สุขเสมอ